เกี่ยวกับคณะเทคนิคการแพทย์

- พันธกิจ -
...............................................................…
ย้อนหลังไปเมื่อพ.ศ. 2487 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านการตรวจทดสอบทางห้องปฏิบัติการแต่เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการ โครงการดังกล่าวจึงต้องระงับไป
พ.ศ. 2497 มหาวิทยาลัยได้เริ่มร่างหลักสูตร โดยใช้แบบอย่างหลักสูตรที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้มีการดำเนินการและเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรก
พ.ศ. 2499 ได้เริ่มการก่อสร้างโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้น ภายในพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช อาคารหนึ่ง และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกอาคารหนึ่ง วันที่ 3 พฤษภาคม 2499 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีจัดตั้ง “โรงเรียนเทคนิคการแพทย์” สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ เพื่อการเรียนการสอนสำหรับการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และเพื่อบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2500 จึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “คณะเทคนิคการแพทย์” ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีท่านแรก
พ.ศ. 2508 เริ่มโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรเฉพาะทางไม่ด้านรังสีวิทยาโดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ซึ่งนับเป็นโรงเรียนรังสีเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทยในการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคนี้ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ได้แต่งตั้งให้นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้
พ.ศ. 2511 คณะเทคนิคการแพทย์จัดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร ของโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคตามความต้องการของประเทศ
พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามเป็น“มหาวิทยาลัยมหิดล” สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะเทคนิคการแพทย์ จึงเป็นคณะหนึ่งที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลนี้ด้วย
พ.ศ. 2514 โรงเรียนรังสีเทคนิคได้เปิดหลักสูตร 2 ปี สำหรับพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประเทศ
จากความต้องการบุคลากรสาขาเทคนิคการแพทย์ในระดับวิทยาการชั้นสูง คณะฯ จึงเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 จึงมีการเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ขึ้น นับได้ว่า เป็นการศึกษาระดับสูงสุดในวิชาการเทคนิคการแพทย์ และเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาเทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค พ.ศ. 2541 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้เป็นหลักสูตรนานาชาติ โดยคณะฯ มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิชาการและ มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งต่างประเทศและในประเทศ อาทิ Lund University ประเทศสวีเดน ,Muenster University ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน,University of Kentucty ประเทศสหรัฐอเมริกา, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นต้น