เกี่ยวกับภาควิชา
ประวัติโดยสังเขป
ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก ได้ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2500 โดยใช้ตึกคณะเทคนิคการแพทย์ ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นฐานของการปฏิบัติภารกิจ โดยในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้ง มีภารกิจหลักเพียง 2 ประการ คือ การเรียนการสอนสำหรับการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ในระดับปริญญาตรีและในระดับเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ และภารกิจด้านการบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
การบริหารจัดการภายในภาควิชา ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ภาควิชาฯ มีหัวหน้าภาควิชามาแล้วทั้งสิ้นจำนวน 9 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้
1. นพ. เชวง เตชะไกศยะ | (2510-2513) | |
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. กนกนาถ ชูปัญญา | (2513-2530) | |
3. รองศาสตราจารย์ พญ. ทัศนีย์ เล็บนาค | (2530-2538) | |
4. รองศาสตราจารย์ บังอร ตัณฑ์เกยูร | (2538-2542) | |
5. รองศาสตราจารย์ พรศรี ตันตินิติ | (2542-2548) | |
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. บุญทรง ปรีชาบริสุทธิ์กุล | (2548-2550) | |
7. ศาสตราจารย์ ดร. วนิดา อิฐรัตน์ | (2551-2556) | |
8.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. สุมนา มัสอูดี | (2556-2557) | |
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดลินา ตันหยง | (2557-ปัจจุบัน) |
รองศาสตราจารย์ อาภาพันธ์ ศรีสรินทร์ เป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯ ทำหน้าที่ควบคุมและดูแลงานด้าน บริการวิชาการภายใต้ความรับผิดชอบของภาควิชาฯ
ลักษณะของภาควิชา
ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก เดิมเรียกว่า ภาควิชาคลินิคัลไมโครสโคปี สังกัดคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีสำนักงานภาควิชาตั้งอยู่ที่ชั้น 7 อาคารคณะเทคนิคการแพทย์ ภายในโรงพยาบาลศิริราช และที่ห้อง 819 ชั้น 8 อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตศาลายา โดยปัจจุบันภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก มีอัตรากำลังของบุคลากรทั้งหมด 30 คน เป็นสายวิชาการ 14 คน (สังกัดสำนักงานคณบดีจำนวน 3 คน) ทำหน้าที่ช่วยสอนและบริการวิชาการ จำนวน 7 คน และสายสนับสนุนที่ทำหน้าที่ธุรการ/อื่นๆอีก 7 คน
ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก รับภาระงานสอนในระดับปริญญาตรี ภายใต้รหัส ทนคม. (MTMS) ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับ จำนวน 13 รายวิชา (17 หน่วยกิต) ซึ่งครอบคลุมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านโลหิตวิทยา กลไกการห้ามเลือด การธนาคารเลือด การตรวจปัสสาวะ และเซลล์วิทยาและน้ำคัดหลั่ง ตลอดจนการฝึกงานและภาคนิพนธ์ และรับภาระงานสอนรายวิชาเลือกอีก 2 รายวิชา (3 หน่วยกิต) คือเทคนิคการเตรียมเนื้อเยื่อเพื่อการวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยาและเวชพันธุศาสตร์ นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังร่วมรับผิดชอบรายวิชาอื่นๆภายใต้รหัส MTID ด้วย
ส่วนในระดับบัณฑิตศึกษาภาควิชาฯรับภาระงานสอนรายวิชาบังคับ จำนวน 1 รายวิชา (4 หน่วยกิต) และรายวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกกับคณาจารย์ในภาควิชาฯ
ด้านบริการวิชาการ ภาควิชาฯรับภาระงานการตรวจวิเคราะห์ผู้ป่วยนอกและงานตรวจสุขภาพชุมชนร่วมกับสถานเวชศาสตร์ชันสูตร งานตรวจวิเคราะห์โครโมโซมเพื่อวินิจฉัยทางเวชพันธุศาสตร์ ตลอดจนงานประเมินคุณภาพของห้องปฏิบัติการโดยองค์กรภายนอก (EQAM) และอื่นๆ อาทิการรับเชิญเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษ บทความทางวิชาการที่เผยแพร่ผ่านสื่อสู่ประชาชน
ด้านการวิจัย ภาควิชาฯทำหน้าที่ผลิตผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทั้งระดับชาติและนานาชาติโดยงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมีจำนวนประมาณ 5-6 เรื่องต่อปี นอกจากนี้ บุคลากรของภาควิชาฯ ยังปฏิบัติงานทางวิชาการอื่นๆ เช่นการรับเชิญเป็นวิทยากรของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน้าที่ในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ครบตามพันธกิจ 4 ด้านของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การได้รับมาตรฐานจากองค์กรต่างๆ
งานบริการด้านการตรวจโลหิตวิทยาและปัสสาวะ ได้รับการรับรองคุณภาพ มาตรฐานสากล ISO 15189 เมื่อ 21 พฤษภาคม 2551 ได้ผ่านการตรวจประเมินเฝ้าระวังห้องปฏิบัติการโดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2553
ภาควิชามีโครงการขอการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ISO 15189 เพิ่มเติมด้านโลหิตวิทยา และการตรวจปัสสาวะ โดยดำเนินการร่วมกับสถานเวชศาสตร์ชันสูตร เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ได้แก่ การทดสอบ ESR, Hb typing, และ Pregnancy test ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพภายในห้องปฏิบัติการ (internal audit) ในส่วนของเอกสารคุณภาพวิธีปฏิบัติ เมื่อ 16 มีนาคม 2553